|
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเยี่ยมโรงพยาบาลที่เคยฝึกงานสมัยอยู่อเมริกาเมื่อ 13-14 ปีก่อน คือที่โรงพยาบาลเยล-นิวเฮเวน (Yale-New Haven) ซึ่งอยู่เมืองนิวฮาเวน รัฐคอนเนคติกัทนั่นเอง นอกจากจะพบว่ามหาวิทยาลัยเยล เมืองและโรงพยาบาลที่เติบโตไปอย่างมากแล้ว ยังพบว่ามหาวิทยาลัยเยล มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่โตที่โรงพยาบาลเด็กของเยลได้รับการ Ranking หรือจัดอันดับเป็นโรงพยาบาลที่ดี ติดอันดับท๊อป 5 ของสหรัฐอเมริกา โดยหนังสือพิมพ์ US News และเดือนที่แล้ว ฝ่ายการพยาบาลของโรงพยาบาลก็ยังได้ฉลอง ที่ได้รับการยกย่องว่ามีการพยาบาลที่เป็นระดับ Magnet Recoqnition นั่นคือ ผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการต่างติดอกติดใจและให้ความเห็นว่ามีการดูแลที่ดีเยี่ยม
|
|
 |
|
ในอเมริกาเอง มีการจัดอันดับโรงพยาบาลกันมานานอย่างของ US News นี้ ทำมานานกว่า 20 ปี ซึ่งจะว่าไปแล้วการสำรวจคุณภาพและมาตรฐานหรือการจัดอันดับนั้นไม่ได้ทำเฉพาะในวงการแพทย์หรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ในวงการอื่น ๆ ทั้งเรื่องการบริการ สถานที่ หรือธุรกิจต่าง ๆ ก็มีการทำเช่นนี้กันมานานแล้วเช่นกัน การกำหนด Best Pratice หรือการ Benchmarking ก็ตาม ถือว่าอเมริกาเป็นต้นตำรับในทุกวงการจริง ๆ |
|
US News มัวัตถุประสงค์ในการจัดอันดับโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยแบ่งเป้นสาขาต่าง ๆ กว่า 16 สาขา เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเด็ก โรคสมอง โรคทางเดินอาหารและตับ ฯลฯ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เข้าใช้บริการในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคยาก ๆ หรือโรคที่ซ้ำซ้อน โดยการพิจารณานั้นคะแนนสองในสามจะให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเมื่อเข้ารับบริการจากทางโรงพยาบาล และความสามารถในการดูแลรักษาโรค โดยพิจารณาจากอัตราการตายหรืออัตราการอยู่รอดในโรคต่าง ๆ ซึ่งหัตถการการผ่าตัดชนิดต่าง ๆ และยังให้ความสำคัญครอบคลุมถึงระบบบริการที่ดี สะดวก ได้มาตรฐาน มีระบบฐานข้อมูลที่ดีและเข้าถึงได้ง่าย ปัจจัยรอง ๆ ที่พิจารณา ก็มีเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือสำคัญ ๆ อัตราส่วนของแพทย์และพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย (ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้มีปัญหาแน่ในบ้านเรา) ส่วนในเรื่องของผลการรักษา การวิจัยต่าง ๆ ก็นับเป็นข้อพิจารณาด้านหนึ่งแต่อาจจะไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่ง คือ มีการสอบถามไปยังแพทย์กว่าหมื่นคนในหลาย ๆ สาขาได้แนะนำโรงพยาบาลที่คิดว่าดีที่สุดในสาขาของตนเองมา 5 โรงพยาบาล คะแนนในด้านความมีชื่อเสียง จากความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน ก็ถูกนับในการจัดอันดับด้วย ซึ่งโรงพยาบาลถูกจัดอันดับ 10 หรือ 20 อันดับแรก ก็มักจะอ้างอิงจากการจัดอันดับนี้ ไปโฆษณากันอยู่พอสมควร โรงพยาบาลจอร์น ฮ๊อปกินส์ ที่แมรี่แลนด์ครองอันอับ 1 ตลอดกาลจากคะแนนรวม และในหลาย ๆ สาขา |
|
นอกจากนี้ ยังมีการจัดอันดับโรงพยาบาลจากหลาย ๆ สำนัก ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่การจัดลำดับโดยใช้มุมมองของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ จะได้รับความนิยมมากที่สุด |
|
แต่การจัดลำดับกับเรื่องของการกำหนดมาตรฐานหรือประเมินเกณฑ์มาตรฐานมีความแตกต่างกัน การประเมินมาตรฐานของโรงพยาบาลในมุมมองของหน่วยงานที่มาประเมิน ก็เพื่อยกระดับคุณภาพด้านความปลอดภัยในการเข้ารับการรักษา ในมุมมองของโรงพยาบาลที่ต้องการได้รับการประเมินให้ผ่านเพื่อให้ผู้มาใช้บริการแน่ใจว่ามีมาตรฐานและความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การจัดอันดับก็จำเป็นต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำว่าผ่านการรับรองหรือประเมินโดยหน่วยงานที่สำคัญอื่น ๆ
|
|
หันกลับมามองประเทศ ในเรื่องการจัดอันดับเพื่อ Ranking ยังเป้นเรื่องที่ห่างไกลความจริงพอสมควร ทั้งด้วยเรื่องวัฒนธรรมของคนไทยในเรื่องการยอมรับความเห็นจากภายนอก และในเรื่องของบรรยากาศเรื่องการประเมินคุณภาพหรือมาตรฐานต่าง ๆ ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่ถึง 20 ปี การจัดอันดับองค์กรต่าง ๆ จึงออกไปในการยกย่องชมเชย หรือให้รางวัลแก่องค์กรที่ยอดเยี่ยมในด้านธรรมชาติและบริหารองค์กร เช่น TQA (Thailand Quality Award) หรือหากเป็นในวงการพยาบาล ก็จะได้ยินเรื่อง HA (Hospital Accreditation) กันมากที่สุด ซึ่งทั้งโณงพยาบาลของรัฐและเอกชนต่างตั้งเป้าหมายให้ตนเองผ่านการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ที่มีชื่อย่อว่า พรพ. HA กับวงการสาธารณสุขในบ้านเรา จึงเปรียบเสมือนเรือพายที่ติดเครื่องจักร สามารถยกระดับมาตรฐานการรักษาในหลาย ๆ ด้าน ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ เปรียบเหมือนเรื่อพายที่ต้องปรับโครงสร้างเรือบางส่วนให้ติดเครื่องยนต์ได้และแล่นในน้ำได้โดยไม่พังเสียก่อน |
|
การจัดอันดับโรงพยาบาล Best Hospital ในบ้านเรามักจะเห็นได้จากการสำรวจจากต่างประเทศมากกว่าซึ่งก็เชื่อถือไม่ค่อยได้มากนักเพราะยังไม่มีการลงลึกถึงข้อมูลพื้นฐานจริง ๆ อย่างมาก็เป็นการสำรวจฝ่าย Online หรือดูจากเว็บไซต์ เช่น การสำรวจของ CSIC ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิจัยของกระทรวงศึกษาที่สเปน ได้จัดอันดับให้โรงพยาบาลจุฬา ติดอันดับ 3 ของทวีปเอเซีย อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับโดยสำนักนี้ทำเพียงผ่านการสำรวจเวบไซต์และการใช้ Search Engine 3-4 ตัวเท่านั้น |
|
ธุรกิจ Medical tourism หรือการที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง อเมริกา และยุโรป เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อรับการรักษาพยาบาลนอกประเทศของตนเองด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เช่น พวกอาหรับเดินทางมายังเมืองไทยเพราะค่ารักษาพยาบาลไม่แพง คุณภาพดีกว่าที่บ้านเค้า และไม่ค่อยได้รับการต้อนรับจากประเทศที่เคยไป อย่างเช่น ประเทศเยอรมัน ส่วนชาวยุโรปหรืออเมริกาเองที่มารักษาที่เมืองไทยก็ด้วย เหตุผลสำคัญที่ค่าใช้จ่ายถูกมากกว่าและมารตฐานการรักษาในบ้านเราในบางเรื่อง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนก็ดีมาก ฝรั่งเหล่านี้เข้ามาบ้านเราเพราะทั้งด้วยไม่มีประกันสุขภาพในบ้านตัวเองเข้ามาด้วยการรักษาบางอย่างที่ประกันปฏิเสธการจ่าย ต้องควักกระเป๋าเอง เช่น การทำฟันการทำศัลยกรรมตกแต่งหรือการผ่าตัดแปลงเพศ |
|
เมื่อการรักษาพยาบาลที่มีความเกี่ยวข้องกับต่างชาติมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็เป็นที่ถูกจับตามองมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่สูงมากขึ้นทั้งระหว่างโรงพยาบาลเอกชนในประเทศและยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ปัจจุบันเราจึงได้เห็นว่า องค์กรเอกชนให้การรับรองมาตรฐานอเมริกา ที่เรียกว่า JCI (Joint Commission International) จึงเข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่อีกแบบหนึ่ง เพื่อประเมินโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย (ปัจจุบันจะลามไปถึงโรงพยาบาลของรัฐกันแล้ว) โดยเริ่มต้นจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และต่อมาก็โรงพยาบาลกรุงเทพนั่นเอง |
|
การเข้าสู่การประเมินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพต่าง ๆ ของโรงพยาบาลในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ทำให้มั่นใจได้มากยิ่งขึ้นว่าจะสามารถเขารับบริการตรวจรักษาโรคได้ด้วยความปลอดภัย ภาวะแทรกซ้อนต่ำ มีโอกาศหายสูง มีอัตราการตายต่ำ ค่าใช้จ่ายที่ตามมาอาจจะสูงไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดาในเรื่องของการลงทุน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องของชีวิตแล้วก็สุดแสนจะคุ้ม |
|
เรื่องราวของการประเมินคุณภาพ การจัดอันดับต่าง ๆ ของโรงพยาบาลทั้งในอเมริกา และประเทศไทยที่เล่าให้ฟังนี้ อาจช่วยสะท้อนให้เห็นว่าวงการแพทย์หรือการรักษาพยาบาลได้พัฒนาออกไปได้ไกลพอสมควร ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่วงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ จะได้ลองศึกษาทบทวน และมีการนำมาตรฐานใหม่มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการของตนเอง และให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคได้ และถือเป็นโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจในการหาตลาดใหม่ ๆ ในโลก เหมือนกับที่เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นกับ Medical tourism ในบ้านเรา
|
|
ดาวน์โหลดบทความคลิ๊กที่นี่ |
|
รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร
|