ในการรักษาเนื้องอกของมดลูก ด้วยวิธีผ่านหลอดเลือดแดง การรักษาเนื้องอกในมดลูกด้วยวิธีผ่านหลอดเลือดแดง (Uterine Fibroids Embolization)
|
|
ถาม : เนื้องอกของมดลูกคืออะไร ตอบ : เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติในผนังมดลูกและถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนในร่างกายให้มีขนาดโตขึ้นจากก้อนเนื้อที่มีขนาดเล็กไม่ถึง 1 นิ้ว จนมีขนาดใหญ่มากกว่า 10 นิ้ว โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1. ก้อนเนื้องอกที่อยู่ในผนังด้านในของมดลูก 2. ก้อนเนื้อที่อยู่ในผนังมดลูก 3. ก้อนเนื้องอกที่อยู่ในชั้นของเยื่อเมือกของมดลูก
|
|
ถาม : มีอาการอย่างไรเมื่อมีเนื้องอกของมดลูก ตอบ : โดยทั่วไปเนื้องอกของมดลูกมักไม่มีอาการ แต่จะมีผู้ป่วยประมาณ 20% ที่ต้องการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และจำนวนก้อน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้ 1. มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด 2. มีอาการปวดในอุ้งเชิงกราน ปวดหลัง ปวดขา 3. มีอาการปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์ 4. มีอาการที่เกิดจากการกดของก้อนเนื้อ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก
|
|
ถาม : จะได้รับการวินิจฉัยด้วยวิธีใดบ้าง ตอบ : โดยทั่วไปแพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจภายในหรือสามารถยืนยันได้ชัดเจนขึ้นด้วยการอัลตราซาวน์
|
|
ถาม : การรักษาทำได้กี่วิธี ตอบ : ทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1. การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิดและฮอร์โมน 2. การรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การตัดเนื้องอกของมดลูก (Myomectomy) การตัดมดลูก (Hysteretomy) 3. การอุดตันเส้นเลือด (Uterine Fibroids Embolization)
|
|
ถาม :การอุดตันเส้นเลือดคืออะไร ตอบ : การทำให้เส้นเลือดแดงที่เลี้ยงก้อนเนื้อมดลูกทั้งสองข้างอุดตัน ซึ่งจะส่งผลให้ก้อนเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงในที่สุด แต่ต้องพยายามรักษาการทำงานที่เป็นปกติของผนังมดลูกไว้และไม่ยุ่งเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะส่วนอื่น ๆ
|
|
ถาม : ผู้ป่วยประเภทใดบ้างที่สามารถรักษาด้วยวิธีอุดตันเส้นเลือด ตอบ : 1.ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูกและมีอาการทุกคน สามารถเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ 2. ในกรณีมีข้อห้ามหรือมีความเสี่ยงในการผ่าตัด 3. กรณีที่ผู้ป่วยมีความประสงค์ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ต้องการเก็บรักษามดลูกไว้ หรือประสงค์ตั้งครรภ์ในอนาคต
|
|
ถาม : วิธีการรักษาด้วยการอุดตันเส้นเลือดมีข้อดีอย่างไร ตอบ : 1. ไม่ต้องทำการผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ 2. ใช้ยาเฉพาะที่ทำให้ไม่มีแผลผ่าตัดหรือแผลเป็น 3. นอนรักษาในโรงพยาบาล 2-3 วัน 4. ใช้เวลาในการพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดมาก
|
|
ถาม : มีวิธีการรักษาอย่างไร ตอบ : 1. แพทย์จะเตรียมผิวหนังให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณขาหนีบขวา 2. ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่ ที่บริเวณขาหนีบด้านขวา จากนั้นจะได้รับการใส่สายสวนหลอดเลือดผ่านทางแผลที่ผิวหนังขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร และฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูลักษณะกายวิภาคโดยทั่วไปของหลอดเลือด จากนั้นอาจจะใช้สายสวนหลอดเลือดเข้าไปยังหลอดเลือดด้านตรงข้ามกับตำแหน่งที่แทงเส้นเลือดและลักษณะเส้นเลือดที่ผิดปกติของเส้นเลือดที่เลี้ยงมดลูก และวางตำแหน่งของปลายสายสวนหลอดเลือดตรงบริเวณที่ผิดปกติ 3. จากนั้นทำการอุดตันเส้นเลือดด้วยสารสำหรับอุดตันเส้นเลือดซึ่งสารที่นิยมใช้ในการอุดตันหลอดเลือดคือ polyvinyl Alcohol particles 4. เมื่อมีการทำการอุดตันหลอดเลือดแดงทางด้ายว้ายแล้ว ให้ใช้สายสวนหลอดเลือดเดิมมาทำการฉีดสีดูลักษณะหลอดเลือดและอุดหลอดเลือดทางด้านขวาด้วยวิธีเดียวกัน
|
|
ถาม : มีภาวะแทรกแซงอะไรบ้าง ตอบ : ที่พบบ่อย คือ อาการปวดท้อง คลื่นไส้และอาเจียน หลังจากการรักษา 1-2 วัน บางรายอาจมีไข้ แต่อาการเหล่านี้มักจะควบคุมได้โดยการใช้ยาแก้ปวด
|
|
ถาม : ผลการรักษาเป็นอย่างไร ตอบ : ผู้ป่วย 90% พอใจกับผลการรักษา สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติภายหลังการรักษา 1 สัปดาห์ แม้ว่าตัวก้อนเนื้องอกจะไม่ได้หายไปทันทีแต่จะมีการฟ่อลงและค่อย ๆ สลายลงไปโดยตัวมดลูกยังอยู่อย่างปกติ ทำให้อาการปวด อาการเลือดออกผิดปกติหรืออาการอื่น ๆ หายไป
|
|
รศ.นพ. คมกริช ฐานิสโร |