|
เมื่อไม่นานนี้ก่อนการสั่งปลด ผู้นำองค์กรของ สปสช. หรือคนที่ดูแลงานด้านบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโลก มีข่าวที่ถูกเผยเเพร่ออกมาก่อนจนดูเหมือนสอดรับกันกับการปลดฟ้าผ่า เนื้อหาที่ประชาชนในsocial media รับเสพและส่งต่อก็คือ มีการเผยเเพร่งานวิจัยจากสถาบันเเห่งหนึ่ง ที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งของคนไข้ที่มาใช้บริการบัตรทอง สูงกว่าอัตราการตายในกลุ่มผู้ป่วยที่เบิกค่ารักษาในระบบราชการ.. |
|
ผู้คนเสพหัวข่าว และด่วนสรุปว่าระบบบัตรทองนอกจากจะใช้เงินหลวงสำหรับโครงการนี้เป็นจำนวนมากเเล้วยังไร้ประสิทธิภาพ บริการก็ไม่ดีจนผู้คนและสื่อมวลชนต่างพากันสรุปไปแล้วว่าโครงการนี้เเย่มาก ต้องปรับปรุงหรือยุบไปเลย เเล้วเหตุการณ์สอดคล้องเกิดตามมา มีการปลด เลขา สปสช. และจนเกิดกระเเสการยกเลิกโครงการ 30 บาทในปัจจุบันนี้ |
|
หากใจเย็นสักนิด คิดทบทวนสักหน่อย เราจะรู้ว่าการเปรียบเทียบเรื่องอัตราการตายดังกล่าวดูจะไม่เป็นธรรมกับโครงการ30บาท อย่างมาก เพราะเราไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลสองกลุ่มนี้ได้เลยเนื่องจากพื้นฐานของกลุ่มประชากรทั้งในเเง่ฐานะ ความเป็นอยู่ สุขภาพพื้นฐาน ตลอดจนเราไม่ทราบเรื่องของชนิดของมะเร็ง ตลอดจนระยะของโรค พูดง่ายๆคือกลุ่มประชากรของโครงการ30บาท จนกว่าเจ็บกว่า สุขภาพเดิมก็เเย่กว่า ผลการรักษาจึงมีเเนวโน้มที่เเย่กว่าเป็นธรรมดา |
|
ก่อนที่เราจะไปดูว่ากลุ่ม 30 บาท ได้รับยาห่วย บริการช้า หมอไม่เก่ง อะไรทำนองนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจความเเตกต่างเรื่องพื้นฐานประชากรในกลุ่มที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบเสียก่อน ซึ่งหากแตกต่างขนาดนี้ต่อให้ไปรักษาที่ศูนย์มะเร็งในอเมริกาก็คงไม่ได้ดีไปกว่านี้มากหรอกครับ ดังนั้นการจะนำเสนอหรือเสพข่าวอะไรทำนองนี้ต้องอาศัยการคิดทบทวนอย่างเป็นธรรมสักหน่อยก่อนจะเลือกเชื่อเเละด่วนสรุปเเล้วส่งต่อหรือให้ความเห็น ไม่งั้นเราอาจตกเป็นเครื่องมือของนักวิชาการ นักข่าว หรือนักการเมืองที่ต้องการสร้างกระเเสเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝง โดยอาศัยเหยื่อคือประชาชนที่เชื่อง่ายและอ่อนไหวต่อประเด็นสังคมอย่างเราๆ |
|
รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร |
|